ในปัจจุบันนอกจากการเรียนไล่ตามระดับชั้นแล้ว ยังมีการสอบเทียบเพื่อนำคะแนนไปยื่นเข้ามหาวิทยาลัยด้วย วันนี้จึงจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับระบบสอบเทียบ GED ให้มากขึ้น ขั้นตอนการสอบเทียบมีอะไรบ้าง มีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ และสามารถยื่นคะแนนเข้าคณะไหนได้บ้าง ไปหาคำตอบพร้อมๆ กัน
ระบบสอบเทียบ GED คืออะไร?
GED ย่อมาจาก General Educational Development เป็นการสอบเทียบวุฒิการศึกษาระดับ High School ของระบบการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา หรือเป็นการสอบเทียบเท่าระดับมัธยมศึกษาตอนปลายนั่นเอง ซึ่งในประเทศไทยการสอบเทียบ ม.6 ด้วยการสอบ GED กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะเป็นที่ยอมรับของมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศไทย และต่างประเทศด้วย
โดยการสอบเทียบ GED ไม่มีการจำกัดวุฒิการศึกษาขั้นต่ำ จะเรียนอยู่ชั้นไหนก็สามารถสมัครสอบได้ แต่ผู้สมัครจะต้องมีอายุ 16 ปีขึ้นไป ในการสอบจะสามารถสอบซ้ำได้ถึง 3 ครั้ง ถ้าหากยังสอบไม่ผ่าน ครั้งที่ 4 จะต้องเว้นระยะไป 30 วัน
ขั้นตอนการสมัครระบบสอบเทียบ GED
ขั้นตอนที่ 1 : สมัคร GED Account
สมัคร GED Account ผ่านเว็บไซต์ www.ged.com โดยระบบจะใช้เวลาในการสร้าง GED Account ให้ราวๆ 1-2 สัปดาห์ โดยผู้สมัครจะต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป หากผู้สมัครมีอายุ 16-17 ปี ผู้ปกครองจะต้องเซ็นใบยินยอม (Consent form) ก่อน
ขั้นตอนที่ 2 : ทำการสอบ GED Ready ให้ผ่าน
ก่อนสอบจริง ผู้สมัครจะต้องสอบ GED Ready หรือแบบทดสอบความพร้อมก่อนสอบจริงให้ผ่านก่อน โดยต้องทำคะแนนให้ได้มากกว่า 155 คะแนนจากคะแนนเต็ม 200 คะแนน จึงจะสามารถสอบจริงได้ (ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ $6.99 /วิชา)
ขั้นตอนที่ 3 : สมัครสอบ GED รอบจริง
หลังจากที่สอบ GED Ready หรือแบบทดสอบความพร้อมก่อนสอบจริงผ่านเรียบร้อยแล้ว ระบบจะอนุญาตให้สมัครสอบจริง โดยเลือกไปที่ “Schedule Test” ที่หน้าเว็บไซต์ www.ged.com จากนั้นสามารถเลือกสอบวิชาที่สอบ GED Ready ผ่านแล้วได้เลย (ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ $80 /วิชา)
ขั้นตอนที่ 4 : ทำเรื่องขอ Transcript และ Diploma
ขั้นตอนสุดท้าย หลังจากที่สอบผ่านครบทุกวิชาแล้ว จึงจะสามารถทำเรื่องเพื่อขอ Transcript และ Diploma ได้ โดยสามารถเลือกวิธีส่งเอกสารตัวจริงจากประเทศสหรัฐอเมริกามาที่ประเทศไทยทางไปรษณีย์ได้เลย แต่ถ้าไม่ทำเรื่องขอเอกสารตัวจริงจะได้เป็น E-Transcript และ E-Diploma แทน ซึ่งแนะนำให้ขอตัวจริงมาไว้ด้วยจะดีกว่า เพราะบางมหาวิทยาลัยใช้เอกสารตัวจริงในการยื่น (ค่าใช้จ่ายในการขอเอกสารตัวจริงอยู่ที่ $15 /ใบ ไม่รวมค่าส่ง)
ระบบสอบเทียบ GED สอบอะไรบ้าง?
ในการสอบของระบบสอบเทียบ GED จะแบ่งการสอบออกเป็น 4 วิชา ได้แก่
วิชาที่ 1 : การอ่านและการเขียน (Reasoning Through Language Arts (RLA))
รูปแบบข้อสอบจะเป็นแบบปรนัย อัตนัย และ Essay มีข้อสอบประมาณ 46 ข้อ ให้เวลาในการสอบ 150 นาที
โดยเนื้อหาจะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ Tests all contents, Extended Response และ Tests all contents มีทั้งการสอบไวยากรณ์ การอ่านจับใจความ รวมถึงการเขียน Essay ด้วย
วิชาที่ 2 : สังคมศึกษา (Social Studies)
รูปแบบข้อสอบจะเป็นอัตนัย ลากคำตอบ และเติมคำในช่องว่าง มีข้อสอบประมาณ 35 ข้อ ให้เวลาในการสอบ 70 นาที
โดยเนื้อหาจะเป็นความรู้ที่เกี่ยวกับสังคมศึกษา เหตุการณ์ปัจจุบัน และประวัติศาสตร์โลก เช่น การปกครองและหน้าที่พลเมือง เศรษฐศาสตร์ ภูมิศาสตร์ เป็นต้น
วิชาที่ 3 : คณิตศาสตร์ (Mathematical Reasoning)
รูปแบบข้อสอบจะเป็นแบบปรนัยและอัตนัย มีข้อสอบประมาณ 46 ข้อ ให้เวลาในการสอบ 115 นาที
โดยเนื้อหาจะเป็นพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ เรขาคณิต พีชคณิต และการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน Basic Data Analysis เป็นต้น ซึ่งในการสอบวิชาคณิตศาสตร์จะสามารถนำเครื่องคิดเลขเข้าสอบได้ แต่ต้องเป็นรุ่น TI-30XS เท่านั้น
วิชาที่ 4 : วิทยาศาสตร์ (Science)
รูปแบบข้อสอบจะเป็นแบบอัตนัยและลากคำตอบ มีข้อสอบประมาณ 38 ข้อ ให้เวลาในการสอบ 90 นาที
โดยเนื้อหาจะเป็นเนื้อหาวิทยาศาสตร์กับชีวิต วิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ชีววิทยา ฟิสิกส์ เคมี โลกและอวกาศ เป็นต้น สามารถนำเครื่องคิดเลขเข้าสอบได้เช่นเดียวกับวิชาคณิตศาสตร์ แต่ต้องเป็นรุ่น TI-30XS เท่านั้น
ระบบสอบเทียบ GED ยื่นเข้าคณะไหนได้บ้าง?
ในการสอบเทียบ GED สามารถยื่นเข้าได้หลายมหาวิทยาลัย ทั้งมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชน รวมถึงยังสามารถยื่นได้ทั้งภาคไทยและภาคอินเตอร์ด้วย
ตัวอย่างมหาวิทยาลัยและคณะที่ยื่นสอบเทียบ GED ได้
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภาคไทย เช่น
- คณะวิศวกรรมศาสตร์
- คณะอักษรศาสตร์
- คณะนิติศาสตร์
ภาคอินเตอร์ เช่น
- คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ การออกแบบสถาปัตยกรรม หลักสูตรนานาชาติ (INDA)
- คณะวิศวกรรมศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ (ISE)
- คณะวิทยาศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ (BBTech)
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ภาคไทย เช่น
- คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
- คณะศิลปกรรมศาสตร์
- คณะนิติศาสตร์
- วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วยอึ้งภากรณ์
ภาคอินเตอร์ เช่น
- คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน สาขาสื่อมวลชนศึกษา หลักสูตรนานาชาติ (B.J.M.)
- คณะพยาบาลศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ (BNS)
- คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง (DBTM)
- คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การออกแบบเชิงดิจิทัล หลักสูตรนานาชาติ (IDD)
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ภาคไทย เช่น
- คณะวิศวกรรมศาสตร์
- คณะศึกษาศาสตร์
- คณะสัตวแพทยศาสตร์
- คณะบริหารธุรกิจ
ภาคอินเตอร์ เช่น
- คณะวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาเกษตรเขตร้อน (B.S.)
- คณะเศรษฐศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ (B.A. & B.Econ)
- คณะวิศวกรรมศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ (IUP)
มหาวิทยาลัยอื่นๆ
- วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยศรีปทุม
- วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
- วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
- วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
- สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
สำหรับน้องๆ ที่กำลังวางแผนจะสอบเทียบ GED แนะนำให้ศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด รวมถึงทบทวนบทเรียน ฝึกทำโจทย์บ่อยๆ เพราะข้อสอบในการสอบเทียบ GED ก็ยากเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน
ท้ายสุดนี้ อย่าลืมลองแวะดูคอร์สเรียนเตรียมสอบ A-Level จากเรา มีคอร์สสอนภาษาอังกฤษให้เลือกหลากหลายสำหรับผู้เรียนทุกช่วงวัย ทุกการเตรียมสอบวัดระดับ หรือศึกษาต่อ หากยังไม่มั่นใจว่าคุณควรจะเลือกคอร์สเรียนภาษาอังกฤษแบบไหนดี เพื่อให้เหมาะกับตัวคุณเองมากที่สุด สามารถติดต่อเราได้ตามช่องทางต่างๆ เพื่อปรึกษาวางแผนการเรียนได้ตลอดเวลา เรายินดีพร้อมให้บริการคุณ