แฟ้มสะสมผลงาน หรือ Portfolio นั้นจำเป็นอย่างมากสำหรับน้องๆ มัธยมปลายที่เตรียมตัวจะสอบเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย เพราะว่านอกเหนือจากคะแนนสอบต่างๆ ที่ต้องยื่น หรือผลการเรียนสะสมที่ต้องผ่านตามเกณฑ์ที่แต่ละคณะและแต่ละมหาวิทยาลัยกำหนด การยื่นพอร์ตเพื่อแสดงให้เห็นถึงกิจกรรมที่โดดเด่นของเรา หรือกิจกรรมใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับคณะที่เราอยากจะเรียน ย่อมจะมีประโยชน์ ไม่ว่าจะในวันสอบสัมภาษณ์ หรือมีส่วนช่วยให้ผ่านการคัดเลือก TCAS ในรอบแรก 

และวันนี้ EFL Learning Centre จะมาแนะนำเทคนิคการวางเนื้อหาและองค์ประกอบของพอร์ต เพื่อให้น้องๆ ได้มีโอกาสเข้าคณะเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์สุขภาพ ไม่ว่าจะแพทย์ ทันตะ เภสัช เทคนิคการแพทย์ และคณะที่เกี่ยวข้องอื่นๆ

Portfolio ควรใส่อะไรบ้าง? องค์ประกอบของพอร์ต

หลายคนเข้าใจผิดว่า Portfolio ที่ดีต้องเนื้อหาแน่นๆ ยิ่งแน่นยิ่งแสดงให้เห็นถึงความสามารถและประสบการณ์ของเราได้เยอะ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย การทำพอร์ตนั้นไม่จำเป็นต้องหนา และเนื้อหาเยอะ ควรเน้นความกระชับของเนื้อหา 

แม้เราจะเคยทำกิจกรรมมาเยอะมาก แต่ไม่จำเป็นต้องใส่ทั้งหมด ให้ใส่ในสิ่งที่เกี่ยวข้องที่สุดก่อน Portfolio หรือแฟ้มสะสมผลงานที่ดี โดยมากแล้วไม่ควรเกิน 10 หน้า (อันนี้อาจจะแล้วแต่คณะและมหาวิทยาลัยอีกที) ซึ่งใน 10 หน้านี้จะประกอบด้วย

หน้าปก (ไม่นับรวม 10 หน้า): เราคือใคร?

ต้องออกแบบและนำเสนอให้ดูดีและสะดุดตา อย่าลืมใส่รูปของเรา รวมทั้งข้อมูลส่วนตัว โดยมีรายละเอียดครบถ้วนคือ เราคือใคร เรียนชั้นอะไร ที่ไหน อาชีพในฝันคืออะไร อาจใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปได้ เช่น ออกแบบให้ดูเหมือนกำลังเปิดอ่านนิตยสาร เป็นต้น

หน้า 1: เรามีทักษะอะไร?

นอกเหนือจากการบอกเล่าว่าเราเป็นใคร นี่เป็นโอกาสดีที่จะเจาะลึกและพรีเซนต์ตัวตนของเรา โดยให้เน้นความสามารถพิเศษ ทักษะ (skills) ต่างๆ ที่เรามี งานอดิเรก หรือแม้แต่อุปนิสัยที่เอื้อต่อการที่เราจะเรียนในสาขาวิชาที่เราสนใจ หน้านี้เป็นส่วนสำคัญในการที่จะพรีเซนท์ตัวเองอย่างกระชับในหนึ่งหน้า ให้เค้นศักยภาพที่เรามีลงไป ให้แสดงถึงสิ่งที่สามารถเป็นข้อได้เปรียบในการพิจารณา เช่น ความสามารถทางภาษา ความสามารถในการคิดวิเคราะห์เชิงวิทยาศาสตร์ เป็นต้น อย่าลืมใส่ภาพประกอบและออกแบบการจัดวางให้สวยงามนะคะ

หน้า 2: ใส่ประวัติการศึกษาของเรา

ในส่วนนี้เป็นการบอกประวัติการศึกษาของเราให้รู้ว่าเราเรียนที่ไหน หลักสูตรอะไร แล้วผลการเรียนเป็นอย่างไร ใส่โรงเรียนที่จบมาในแต่ละระดับชั้น ถ้าเนื้อหาแน่นเกินไป ก็สามารถเน้นมัธยมต้น และมัธยมปลายก็พอ อาจจะทำตารางนำเสนอเกรดในวิชาพื้นฐานที่เกี่ยวบ้องกับสาขาที่เราเรียน เช่น เกรดเฉลี่ยสะสมในวิชาเคมี หรือชีววิทยา ภาษาอังกฤษ เป็นต้น จะช่วยให้ผู้อ่านเห็นภาพได้ชัดว่าเรามีผลการเรียนในวิชาที่เกี่ยวข้องดีแค่ไหน

หน้า 3: ทำไมเราอยากเข้าเรียนในคณะ สาขา และมหาวิทยาลัยนี้?

ตรงนี้จะคล้ายๆ การเขียน statement of purpose เลย โดยที่เราจะเขียนเป็นเรียงความแบบย่อ ความยาวไม่เกิน 1 หน้า ไม่เขียนให้แน่นหรือเยิ่นเย้อจนเกินไป ให้เขียนให้เห็นถึงความตั้งใจ เป้าหมายในการเรียน และทัศนคติที่ดีที่เรามีต่อคณะ สาขาวิชา และมหาวิทยาลัยนั้นๆ ถ้าเรารู้ว่าคณะที่เราจะเข้ากำหนดหัวข้อมา ก็ให้เขียนตามที่ระเบียบได้กำหนดเอาไว้ได้เลย

หน้า 4-6: นำเสนอผลงาน รางวัล และเกียรติบัตรต่างๆ 

ส่วนนี้ให้ดึงเอาผลงานเด่นๆ ของเรามาใส่ โดยอย่าลืมว่าคัดเอาเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับคณะและสาขาที่เราอยากเรียนไว้ก่อนเป็นอันดับแรก ส่วนนี้ถือว่าเป็นส่วนสำคัญของการทำพอร์ต (Portfolio) เพราะผลงาน รางวัล และเกียรติบัตรต่างๆ ที่เราได้รับจะเป็นหลักฐานที่การันตีความสามารถของเรา แสดงให้เห็นว่านอกจากผลการเรียนแล้ว เรายังเคยได้รับรางวัลจากกิจกรรมอะไรอีกบ้าง โดยกิจกรรมอาจจะเป็นเชิงวิชาการหรือไม่ก็ได้ ในส่วนนี้ควรแบ่งเป็นหมวดหมู่ด้วย เพื่อให้ดูเป็นระเบียบเรียบร้อย สามารถใส่รูป ใส่เกียรติบัตร รวมทั้งมีคำบรรยายสั้นๆ 

หน้า 7-10: กิจกรรมต่างๆ ที่เคยทำมา

ส่วนนี้ให้นำเสนอกิจกรรมที่เราเคยทำมาอย่างเต็มที่ โดยแบ่งออกเป็นส่วนต่างๆ อันได้แก่ กิจกรรมที่ทำเพื่อส่วนรวม ที่แสดงให้เห็นถึงจิตสาธารณะของเรา (เช่น งานจิตอาสาต่างๆ การเป็นจิตอาสาในโรงพยาบาล อาสาสมัครในโรงเรียนผู้พิการ) กิจกรรมเชิงวิชาการ (แข่ง crossword แข่งคิดเลขเร็ว แข่งโครงงาน แข่งตอบปัญหาวิชาการ การเข้าค่ายเชิงวิชาการต่างๆ) กิจกรรมจิปาถะอื่นๆ (เช่น กีฬาสี งานคณะกรรมการนักเรียน หรือการศึกษาค้นคว้าที่เกี่ยวข้องกับคณะที่เราอยากเรียน การทำวิจัย และกิจกรรมที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและทักษะที่เราต้องการจะนำเสนอ)

เทคนิคเพิ่มเติมในการทำ Portfolio ยื่นเข้าแพทย์ หรือคณะสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ

  • อ่านข้อกำหนดของคณะและศึกษาตัวอย่างก่อน

ก่อนทำพอร์ตและวางองค์ประกอบของพอร์ต ให้เราศึกษาก่อนว่ามหาวิทยาลัยและคณะที่เราจะยื่นได้กำหนดรายละเอียดเฉพาะเจาะจงใดๆ เกี่ยวกับการทำพอร์ตหรือไม่ เพื่อที่เราจะได้สามารถวางแผนและทำ checklist แฟ้มผลงานของเราให้ตรงตามที่มหาวิทยาลัยและสาขาวิชานั้นๆ กำหนด

  • อย่าลืมแสดงให้เห็นถึงทักษะด้านภาษาอังกฤษที่ดี

นอกเหนือจากผลสอบ IELTS ซึ่งมหาวิทยาลัยที่มีชื่อมักจะกำหนดคะแนนอยู่ที่ประมาณ ≥ 6.5-7.0 หรือ TOEFL ที่ประมาณ ≥ 79-100 ที่เราต้องเตรียมตัวสอบเพื่อยื่นคะแนนตามที่คณะหรือมหาวิทยาลัยนั้นๆ กำหนดแล้ว อย่าลืมแสดงให้เห็นถึงทักษะในการใช้ภาษาอังกฤษทั้งพูด ฟัง อ่าน เขียนของเราผ่านพอร์ต วิทยาศาสตร์สายสุขภาพต้องค้นคว้าหาอ่านวิจัย หนังสือ ชีท และสไลด์เป็นภาษาอังกฤษเยอะมาก เราจึงควรที่จะแสดงให้เห็นว่าเราสามารถอ่าน Textbook เป็นภาษาอังกฤษได้สบายมากๆ อย่าคิดว่าจะสอบภาษาอังกฤษให้ผ่านๆ ไปเท่านั้น ให้ตั้งใจเรียนภาษาอังกฤษเหมือนเราใฝ่รู้จริงๆ

  • อย่าสวยแต่รูป จูบไม่หอม

น้องๆ หลายคนคิดว่าอยากมีพอร์ตที่ดีไซน์สวยๆ รู้สึกกังวลเวลาเห็น Portfolio ของคนอื่นที่ดูสวยกว่าของเรา คิดไปว่าของเราต้องไม่เข้าตากรรมการแน่ๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความสวยหน่ะเป็นรองนะคะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราไม่ได้จะเข้าเรียนคณะที่เกี่ยวข้องกับการวาดรูป หรือใช้ความคิดสร้างสรรค์ในเชิงของศิลปะ การจัดวางและดีไซน์ของเราก็ไม่จำเป็นจะต้องเล่นใหญ่อะไรมาก เน้นให้จัดวางเป็นระเบียบ มีความเป็นเอกภาพในตัวธีมสี ฟอนท์ที่ใช้ เน้นสวยเรียบและอ่านง่ายไว้ก่อน 

แต่ยังไงที่สุดแล้วกรรมการก็จะดูส่วนเนื้อหาเป็นหลัก อย่าลืมว่าเรื่องที่สำคัญ คือ ผลงานที่ใส่ลงไปว่าตรงกันกับสิ่งที่คณะและสถาบันการศึกษาต้องการ เราต้องตีโจทย์ให้แตกว่าเราจะนำเสนอคุณสมบัติของตัวเราอย่างไรให้ตรงตามที่สาขาวิชานั้นกำลังมองหา

  • อาจใส่ปกหลังกับสารบัญเพิ่มได้

อาจจะเป็นส่วนประกอบที่ไม่จำเป็นนัก บางคนใส่ บางคนไม่ใส่ ถ้าอยากใส่ก็สามารถใส่เพิ่มได้ (แต่ให้ดูว่าคณะที่เราอยากยื่นพอร์ตนั้นได้กำหนดส่วนสารบัญมาหรือเปล่า) การใส่สารบัญทำให้พอร์ตดูเป็นสัดเป็นส่วนชัดเจนมากขึ้น ปกหลังอาจจะทิ้งคำขอบคุณต่อบุคคลที่สนับสนุนเรา คำขอบคุณถึงกรรมการที่พิจารณาเรา หรืออาจจะใส่คำคมเอาไว้ หรือใส่รูปภาพเพิ่มเติมก็ได้เช่นกัน

  • ทำ Portfolio ดีอย่างเดียวไม่พอ

การทำพอร์ตเป็นแค่หนึ่งส่วนประกอบของรอบยื่นพอร์ตเท่านั้น น้องๆ ที่อยากเข้าเรียนแพทย์ ยังต้องมีคะแนนสะสม หรือ GPAX ของตั้งแต่ระดับ ม.4 ถึง ม.6 ที่มากกว่า 3.50 ขึ้นไป คะแนนสอบวัดระดับภาษาอังกฤษ คะแนนสอบ SAT และ BMAT เพื่อใช้ยื่นคณะแพทย์ โดยที่แต่ละสถาบันก็อาจจะ Require คะแนนที่แตกต่างกันออกไป 

ตัวอย่างเช่น 

  • กรณีที่จะยื่น Portfolio คณะแพทย์ศาสตร์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์จุฬาภรณ์ นอกจาก GPAX ที่ไม่ต่ำกว่า 3.50 แล้ว ใน Portfolio ยังต้องมีเรียงความภาษาอังกฤษตามหัวข้อที่กำหนด คะแนน IELTS ที่ ≥ 7.0 และ TOFEL ที่ ≥ 100 ตามด้วยคะแนน SAT (Math test and Science test) หรือ BMAT (Biomedical Test) อย่างใดอย่างหนึ่ง และคะแนนต้องถึงตามเกณฑ์ที่ทางวิทยาลัยกำหนดในคุณสมบัติของผู้สมัคร เป็นต้น
  • กรณีที่จะยื่น Portfolio คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คุณสมบัติสำคัญที่จะต้องมีคือ หากเป็นนักเรียนโรงเรียนไทยต้องมีคะแนนสอบภาษาอังกฤษ IELTS (≥ 6.5) หรือ TOFEL (≥ 79) ก็ได้ หากเป็นนักเรียนจากโรงเรียนนานาชาติ คะแนนสอบภาษาอังกฤษ IELTS (≥ 7) หรือ TOFEL (≥ 100) ก็ได้ และมีได้คะแนนรวม BMAT (Biomedical Test) ที่ ≥ 9

ตัวอย่างที่ยกมาเป็นเพียงเกณฑ์ที่อ้างอิงจากประกาศของคณะในปีการศึกษาที่ผ่านมาเท่านั้น โดยที่น้องๆ สามารถใช้เกณฑ์ของปีที่ผ่านมาเป็นเป้าหมายในการเตรียมตัว เมื่อถึงปีที่น้องๆ ต้องยื่นจริง น้องๆ ก็ต้องศึกษาเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้สมัครให้ถี่ถ้วนอีกครั้ง

สรุป

การทำพอร์ต (Portfolio) ​เพื่อยื่นเข้าคณะแพทย์ หรือคณะสายวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพอื่นๆ เช่น เทคนิคการแพทย์ นั้น ไม่ได้ยากแบบที่คิด เพียงแต่ต้องอาศัยการเตรียมตัวแต่เนิ่น รู้ว่าเราควรเข้าร่วมกิจกรรมแบบใดบ้าง ควรสะสมผลงานที่เกี่ยวข้องอย่างไร ยิ่งเราวางแผนได้เร็ว ก็จะยิ่งมีโอกาสที่เราจะได้เข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่เราอยากเรียนมากขึ้นไปอีก

Copyright © EFL Learning Centre 2005 – 2024 All rights reserved.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า
Skip to content